เรื่องของไส้ดินสอ
คุณรู้หรือไม่ว่าไส้ดินสอ มีส่วนผสมของอะไรบ้าง ?
ก่อนจะถึงปี ค.ศ. 1564 ซึ่งเป็นปีที่มีการค้นพบแกรไฟต์บริสุทธิ์ ทางตอนเหนือของประเทศอังกฤษ ที่เมืองบอร์โรล์ และนำมาใช้ทำไส้ดินสอนั้น ในสมัยโบราณ ชาวอียิปต์ กรีก และโรมัน ได้ใช้แผ่นตะกั่วในการเขียนแผ่นปาปิรุส ก่อนจะนำพู่กันจุ่มหมึกมาเขียนทับ ซึ่งต่อมาในศตวรรษที่ 14 จิตรกรชาวยุโรปส่วนมาก ใช้ดินสอที่มีแท่งตะกั่ว หรือสังกะสี หรือเงิน มาเขียนภาพและหนังสือ โดยนำไม้เนื้ออ่อนมาหุ้ม ทำเป็นปลอกสวมแท่งโลหะนั้นไว้ จนเป็นที่มาของคำว่า lead ที่หมายถึงไส้ดินสอในภาษาอังกฤษ จนเมื่อมีการค้นพบแกรไฟต์ และนำมาใช้เป็นไส้ดินสอ จนเป็นที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางกัน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา
แกรไฟต์เป็นธาตุคาร์บอนในรูปแบบหนึ่ง จัดเป็นแร่เนื้ออ่อนที่มีโครงสร้างเป็นเกล็ดบางเป็นชั้นๆ เกาะกันอย่างไม่แข็งแรงนักและสามารถหลุดลอกได้ง่าย โดยการที่แกรไฟต์สามารถทำให้เกิดรอยบนกระดาษ หรือวัสดุได้นั้น เกิดจากการที่เมื่อกดแท่งแกรไฟต์ลงบนพื้นผิววัสดุหรือกระดาษ แกรไฟต์ชั้นบางๆ จะหลุดร่อน และลอกติดไปบนพื้นผิววัสดุทำให้เกิดรอยสีดำขึ้น
ในการทำไส้ดินสอนั้น จะเริ่มจากการนำผงแกรไฟต์ที่บดละเอียด มาผสมรวมกับดินขาว (ชนิดเนื้อละเอียดที่ใช้ทำถ้วยชามหรือกระเบื้อง) และปั้นเป็นแท่งยาว ก่อนนำไปเผาที่อุณหภูมิประมาณ 1,200 องศาเซลเซียส จากนั้นจึงนำไปเคลือบด้วยขี้ผึ้ง ซึ่งทำให้เขียนลื่น และสุดท้ายการประกอบเป็นแท่งดินสอ ก็จะใช้กาวผนึกให้ติดแน่นกับปลอกไม้ที่ใช้หุ้ม โดยไม้ที่นำมาใช้ต้องเป็นไม้เนื้ออ่อนพอควร เพื่อทำให้เหลาง่าย เช่น ไม้ซีดาห์ เป็นต้น
ดินสอที่นิยมใช้กันมากจะเป็นชนิด HB ที่ย่อมาจาก hard and black คือแข็งและดำ ส่วนดินสอเนื้ออ่อนและมีสีดำเข้มชนิด B, 2B ฯลฯ จะเน้นส่วนผสมที่มีแกรไฟต์ที่มากขึ้น และในทำนองเดียวกันกับดินสอเนื้อแข็งชนิด H, 2H ไปจนถึง 9H ก็จะมีส่วนผสมของดินขาวในสัดส่วนที่มากขึ้นเช่นกัน
ที่มาภาพ http://www.todayifoundout.com
ที่มาของข้อมูล http://www.material.chula.ac.th/RADIO45/March/radio3-5.htm
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น